โรคไข้หัดแมว (feline panleucopenia)


โรคไข้หัดแมว (feline panleucopenia) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่งในแมวและลูกแมว โรคนี้มักเกิดในลูกแมวและแมวเด็ก และพบว่ามีอัตราการตายสูงมาก อาจตายได้โดยทันทีแม้สัตว์ยังไม่แสดงอาการของโรค โรคหัดแมวมักเป็นกับแมวเล็ก แมววัยรุ่น ถ้าเป็นแล้วมักจะตาย และติดต่อกันได้รวดเร็ว
พบรายงานการเกิดโรคนี้มานานแล้ว ซึ่งสามารถพบในแมวทุกตระกูลไม่ว่าจะเป็น เสือ สิงโต แมวป่า หรือแม้แต่แมวบ้านทุกพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบได้ในสัตว์ตระกูลอื่นๆ อีก เช่น สกั๊งค์ เฟอเร็ต มิ้งค์ แรคคูน ซึ่งโรคนี้ทําให้สัตว์มีอาการคล้ายเป็นหวัดและท้องเสีย ซึ่งมีอาการเหมือนโรคไข้หัดสุนัข จึงมีคนเรียกชื่อต่างๆ เช่น โรคไข้หัดแมว หรือโรคลําไส้อักเสบในแมว

สาเหตุ

  1. โรคไข้หัดแมวนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพาร์โวไวรัส (feline parvovirus) มีผลต่อระบบทางเดินอาหารของแมว โรคไข้หัดแมวมีระยะการฟักตัวของโรค 2-7 วัน
  2. แมวสามารถติดโรคไข้หัดแมวได้จากการติดต่อโดยตรงจากแมวป่วย โดยเฉพาะทางอุจจาระภาชนะใส่อาหาร น้ำ กรงหรือที่ขับถ่ายของแมว พื้นดินที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัส นอกจากนี้อาจเป็นเสื้อผ้าหรือรองเท้า ไวรัสไข้หัดแมวมีอยู่ตามธรรมชาติ ติดต่อจากแมวตัวหนึ่งไปยังตัวอื่นได้ ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย อาหาร หรือสัมผัสแมวตัวที่เป็นโรค ถ้าแมวบ้านออกไปสังคมกับแมวนอกบ้าน ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไข้หัดแมวได้มาก
  3. การแพร่โรคเกิดได้ง่ายขึ้นระหว่างแมวที่เลี้ยงปนกันหลายๆตัว แมลงวันก็เป็นอีกพาหะสำคัญในประเทศแถบร้อน โดยพาเชื้อไวรัสไข้หัดแมวบินไปเกาะแมวตัวที่เป็นโรค สามารถแพร่กระจายให้เกิดการติดเชื้อได้
  4. ถึงโรคหัดแมวจะติดต่อกันได้ง่าย แต่ไม่ต้องกังวลว่าเชื้อจะแพร่กระจายผ่านอากาศ หรือพัดพาไปตามลม ไวรัส หัดแมวแพร่เชื้อด้วยการสัมผัส แค่ไอ จาม เชื้อลอยในอากาศ ติดต่อไม่ได้ ไวรัสไข้หัดแมวไม่สามารถทนความร้อนได้ อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส ก็อยู่ไม่ได้ การดำรงชีวิตต้องอยู่ในที่ชื้น อยู่ในตัวกลางที่เป็นน้ำ น้ำมูก น้ำลายสัตว์ แต่ทนอยู่ในที่ร้อนและไม่ชื้นแฉะไม่ได้
อาการสัตว์ป่วย
  1. แมวมีอาการซึม ไม่กินอาหาร ไข้สูง เพียงแค่หนึ่งวัน อาจจะเป็นอัมพาตขาทั้ง 4 ข้างเดินไม่ได้
  2. โรคไข้หัดแมวนี้จะรุนแรงมากในแมวอายุน้อย โดยมีอาการที่สําคัญที่พบ คือ มีไข้สูง อาเจียนท้องเสีย มีผลต่อการทรงตัวของลูกแมว และทําให้ลูกแมวตาบอดได้
  3. เมื่อคลําบริเวณช่องท้องจะเจ็บท้อง บางทีพบเป็นลําของลําไส้หนาตัว ภายในมีแก๊สและของเหลว
  4. ตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวต่ำมาก จึงมีชื่อเรียกโรคนี้ว่า feline panleukopenia
  5. ในลูกแมวโต เมื่อเกิดการติดเชื้อระยะหนึ่งแล้ว ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ก็จะอาการดีขึ้น แต่ แมวที่หายจากโรคใหม่ๆสามารถพบเชื้อไวรัสออกมากับอุจจาระได้หลายสัปดาห์ แมวเด็กส่วนใหญ่เป็นแล้วตาย ต่างกับแมวผู้ใหญ่เป็นแล้วโอกาสรอดมีมากกว่า แมวอายุมาก ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากแล้ว พอจะมีภูมิต้านทานโรคอยู่บ้าง แต่แมวที่ไม่แสดงอาการโรคหัด ก็ไม่ได้หมายความว่าแมวตัวนั้นจะไม่มีเชื้อ แมวอาจได้รับเชื้อหัดอ่อนๆอยู่ในตัว ถึงจะไม่มีอาการ แต่ก็เป็นตัวกลางนำเชื้อแพร่ไปสู่แมวตัวอื่นได้เช่นกัน การสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่แมวที่เจ้าของเลี้ยง ต้องดูแลใกล้ชิด
  6. ในแมวตั้งท้อง อาจแท้งลูกหรือลูกตายหลังคลอดได้
  7. อาการอาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง และแห้งน้ำอย่างรวดเร็ว มักทำให้เจ้าของคิดว่าสัตว์โดนสารพิษ
  8. ในกลุ่มแมวอายุน้อย ส่วนใหญ่จะตายอย่างรวดเร็ว อัตราการตายอยู่ระหว่างร้อยละ 25-90 แมวที่ป่วยเป็นหัด ถ้าเป็นแมวเด็กอายุ 6-8 อาทิตย์ จะเสียชีวิตภายใน 1 สัปดาห์ ยิ่งเป็นลูกแมวก็จะไม่มีภูมิต้านทาน ยิ่งน่าเป็นห่วง เมื่อติดเชื้อแล้วอาการเป็นหนักและเสียชีวิตได้ง่ายมาก

การติดต่อ
โรคไข้หัดแมวนี้เป็นโรคเฉพาะสัตว์ในตระกูลแมวเท่านั้น ไม่เคยปรากฎมีรายงานว่าพบการติดต่อมาสู่คนแต่อย่างใด

การรักษา พาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง
  1. โดยเฉพาะแมวที่ไม่กินอาหาร หรืออาเจียนท้องเสีย จะทําให้ร่างกายอ่อนเพลียทรุดโทรมมาก สัตว์อาจอยู่ในสภาพช็อคได้
  2. รักษา ตามอาการและพยุงชีวิตให้สัตว์สามารถสร้างภูมิต้านทานต่อโรคได้โดยการให้สาร น้ำทดแทน ขั้นตอนการรักษาหลักๆ คือ ทำให้แมวกินอาหารให้ได้ ต้องพยายามป้อนอาหาร พร้อมกับให้ยาปฏิชีวนะป้องกันโรคแทรกซ้อน การรักษาทำได้เพียงเท่านี้ จะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแมวแต่ละตัว
  3. พิจารณาให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน
  4. ฉีดยาระงับการอาเจียนและลดการทํางานของลําไส้โดยการงดอาหารและน้ำ
  5. วิตามินบีรวมโดยการฉีดเข้าทางเส้นเลือด
การป้องกัน
  1. นำแมวไปฉีดวัคซีนป้องกัน เมื่อแมวมีอายุได้ 2 เดือน ฉีดวัคซีนซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 6 เดือน และฉีดซ้ำทุกปี

  2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลโรคระบาดในสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารเพิ่มขึ้น
  3. ในส่วนของผู้เลี้ยงจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการนำสัตว์เลี้ยงของตนเองไปฉีดวัคซีนตามที่กำหนด และไม่เลี้ยงอย่างปล่อยปละละเลย
  4. ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมวจําหน่ายหลายยี่ห้อ และยังมีชนิดที่เป็นวัคซีนรวมอีกด้วย โดยสามารถใช้ป้องกันได้ทั้งโรคไข้หัดแมวและโรคไข้หวัดแมวไปพร้อมๆกัน วัคซีนโรคอื่นๆที่สำคัญในแมว มี 4 ชนิด โรคไข้หัดแมว โรคพิษสุนัขบ้า โรคลูคีเมีย หรือมะเร็งแมว และโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  5. ควรระวังแมวที่ยังไม่เป็นโรค โดยรีบแยกแมวป่วยออกจากแมวปกติตัวอื่นทันที เพราะโรคนี้เป็นได้กับแมวทุกอายุ
  6. ทําความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่อาจแพร่ออกมากับอุจจาระปัสสาวะด้วยน้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรด์
  7. เจ้าของแมวที่มีแมวตายด้วยโรคไข้หัดแมวไม่ควรนําลูกแมวที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเข้ามาเลี้ยงอีก
คำแนะนำบางประการ
  1. สัตว์ป่าตระกูลแมวและแมวทุกเพศทุกวัย ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยใช้โปรแกรมเดียวกับแมวเลี้ยงดังนี้
    โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมว

            เข็มที่ 1 ฉีดเมื่อลูกแมวอายุ 2 เดือน
            เข็มที่ 2 ฉีดเมื่อลูกแมวอายุ 6 เดือน
            เข็มที่ 3 จากนั้นฉีดทุกปี โดยฉีดวัคซีนปีละเข็ม
  2. ปกติจะฉีดวัคซีนในแมวช่วงอายุตั้งแต่เดือนครึ่ง 2 เดือน ไปจนถึง 4 เดือน แมว ที่ได้รับวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันติดตัวไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงอายุ 6-7 เดือน อยู่ในช่วงเริ่มโต ถึง 1 ปีขึ้นไป ก็เรียกว่าโตเต็มที่ แมวจะมีภูมิคุ้มกันครบถ้วน ร่างกายแข็งแรง แมวจะเป็นโรคหัดหรือไม่ อยู่ที่ภูมิต้านทานในตัว ทั้งมีอยู่แล้วกับเสริมด้วยวัคซีน เมื่อมีโรคต่างๆเกิดขึ้นมา ร่างกายรับเข้ามาจะกำจัดได้ด้วยการสร้างภูมิสู้ จังหวะที่รับเชื้อโรค ถ้าร่างกายแข็งแรงก็สู้ได้ ในทางกลับกัน ถ้าร่างกายอ่อนแอก็แย่
  3. แมวต่างประเทศ เปอร์เซีย ยุโรป นำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย วัคซีนทุกชนิดจำเป็นต้องให้ ถ้าไม่ให้มักจะไม่ค่อยรอด เพราะ เป็นแมวที่มาอยู่ต่างถิ่น ต่างสภาพแวดล้อม แต่ก่อนที่จะนำเข้ามาเลี้ยง แมวต่างประเทศอาจจะนำเชื้อโรคแปลกใหม่เข้ามาด้วย ดังนั้น ก่อนนำเข้ามาต้องให้วัคซีนป้องกัน โดยเฉพาะวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เป็นกฎหมายบังคับให้ต้องฉีดมาก่อนล่วงหน้าในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน เหตุผลที่ให้ความสำคัญกับโรคพิษสุนัขบ้า เพราะเชื้อไม่ได้ติดต่อระหว่างสัตว์กับสัตว์ แต่ยังติดไปถึงคนได้และอันตรายถึงชีวิต ปัจจุบันโรคในแมวที่พบหนักหนาถึงขั้นทำให้เสียชีวิต มีอยู่ไม่กี่โรค ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนตั้งแต่เล็ก  

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

ความคิดเห็น