โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (โรคเอดส์แมว)

โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมวหรือโรคเอดส์แมวเป็นโรคติดต่อที่สำคัญโรคหนึ่ง โดยมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Feline lmmunodeficiency Virus (FIV) เชื้อไวรัสชนิดนี้จัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อ HIV ที่ทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในคน เชื้อไวรัสนี้จะไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของแมวให้เสียไปเรื่อยๆ จนในที่สุดร่างกายแมวไม่สามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ ทำให้แมวเสียชีวิตในที่สุด 


การติดต่อ
การ ติดต่อของโรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดจาการกัดกันของแมวที่เป็นโรค โดยเชื้อไวรัสจะถูกขับออกทางน้ำลาย นอกจากนี้อาจพบเชื้อไวรัสได้ในเลือด ซีรั่ม พลาสม่า และ/หรือ น้ำในสันหลัง

สำหรับการแพร่กระจายของเชื้อ ไวรัสผ่านทางรก น้ำนม และการเลียของแม่แมว มีรายงานพบว่าเป็นไปได้น้อยมาก และยังไม่มีรายงานการแพร่ของโรคผ่านทางการผสมพันธ์

ปัจจัยเสี่ยง
การ ติดเชื้อชนิดนี้มักพบมากในแมวเพศผู้ที่มีอายุประมาณ 5 ปีขึ้นไป และพบในแมวที่เลี้ยงปล่อยออกนอกบ้านมากกว่าแมวที่เลี้ยงอยู่ภายในบ้าน

อาการของโรค
แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เกิดเฉียบพลันหลังจากที่แมวได้รับเชื้อ มีอาการไข้สูง 2-3 วัน หรือหลายสัปดาห์ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณต่างๆ บวมอักเสบ แมวบางรายอาจแสดงอาการรุนแรงแต่ไม่ถึงตาย
ระยะที่ 2 เป็นระยะที่แมวไม่แสดงอาการป่วยให้เห็นแต่เป็นพาหะนำโรค ระยะนี้อาจแสดงอาการนานเป็นเดือนจนถึงหลายปี
ระยะที่ 3 เป็นระยะที่แมวเริ่มแสดงอาการป่วยในเห็นโดยมีอาการไม่เฉพาะเจาะจง อาการที่พบ ได้แก่ มีไข้สูง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองบริเวณต่างๆ บวมอักเสบ เม็ดโลหิตขาวต่ำ โลหิตจาง ระยะนี้อาจแสดงอาการนาน 6 เดือนจนถึงหลายปี
ระยะที่ 4 เป็นระยะที่แมวป่วยส่วนใหญ่มักมาหาสัตวแพทย์ เนื่องจากสภาพการป่วยเรื้อรังจากการติดเชื้อแทรกซ้อน อาการที่พบ ได้แก่ ช่องปากและเหงือกอักเสบเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองขยายใหญ่ ผอมแห้ง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้นเรื้อรัง โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคติดเชื้อทางเดินอาหารเรื้อรัง เม็ดโลหิตขาวต่ำ โลหิตจาง ระยะนี้อาจแสดงอาการเป็นเดือนหรือเป็นปี
ระยะที่ 5 เป็นระยะสุดท้าย โดยแมวป่วยส่วนใหญ่จะทรุดโทรมมาก ซีดมาก ไขกระดูกไม่ทำงาน ผอมแห้งจากการติดเชื้อโรคเรื้อรังต่างๆ และโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น โรคลิวคีเมีย คริโตค็อกโคซิส เป็นต้น บางรายอาจพบความผิดปกติทางระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันระบบขับถ่ายปัสสาวะ ตา และเนื้องอก ส่วนใหญ่แมวป่วยที่อยู่ในระยะนี้จะเสียชีวิตภายในเวลาไม่นานนัก

การวินิจฉัยโรค
ประวัติและอาการของสัตว์ป่วย
การตรวจเลือด เพื่อดูระดับของเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว
การตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันหรือแอนตี้บอดี้ของร่างกายที่มีต่อเชื้อไวรัส

การรักษา
ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดใดที่ใช้ในการรักษาโรคเอดส์แมวได้อย่างมี ประสิทธิภาพ การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการและป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน คือ
การให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อควบคุมการติดเชื้อแทรกซ้อน
การให้สารน้ำบำบัดและสารอาหารแก่สัตว์ป่วย เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำและสารอาหาร

การป้องกัน
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคเอดส์แมว การป้องกันโรคนี้ที่ให้ผลดี คือ
การเลี้ยงแมวให้อยู่ภายในบ้าน และควรทำหมันแมวเพื่อลดโอกาสการออกไปเที่ยวนอกบ้าน
ควรแยกแมวที่ติดเชื้อ FIV ออกจากแมวตัวอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ของเชื้อไวรัสไปยังแมวตัวอื่น
ควรหลีกเลี่ยงภาวะเครียด เพื่อพยุงให้แมวป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น
ในกรณีที่เลี้ยงแมวไว้หลายตัว แมวที่ได้มาใหม่ควรมีการตรวจสอบหารเชื้อ FIV และกักบริเวณเพื่อดูอาการก่อนนำเข้าบ้าน

โรคเอดส์แมวไม่สามารถติดต่อคนได้
เนื่องจากเชื้อ FIV เป็นเชื้อไวรัสที่มีความเฉพาะเจาะจงมาก โดยจะมีชีวิตหรือเจริญเติบโตอยู่ได้เฉพาะในแมวและสัตว์ตระกูลแมวเท่านั้น


ที่มาของข้อมูล
แผ่นพับของโรงพยาบาลสัตว์สุวรรณชาด สะพานสูง

ความคิดเห็น