ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว


อาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว
(Feline lower urinary tract disease; FLUTD)


อาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว หรือ FLUTD เป็นกลุ่มอาการที่ใช้อธิบายความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว ที่มีอาการดังต่อไปนี้คือ ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะลำบากมาก ปัสสาวะกระปริดกระปรอย และอาจร่วมกับมีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติหลายอย่างร่วมกัน และยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่นอน

สาเหตุของการเกิดโรค
ในปัจจุบันยังหาสาเหตุของการเกิด FLUTD ที่แน่นอนไม่ได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุเดียว หรือหลายๆ สาเหตุร่วมกันก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น การเกิดการอักเสบติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การเกิดนิ่วหรือการเกิดปลั๊ก (plug) อุดตันทางเดินปัสสาวะ

จากการศึกษาพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่มักพบได้บ่อยในแมวที่มีปัญหาการเกิด FLUTD คือ มักพบในแมวเพศผู้มากกว่าเพศเมีย อายุที่พบมากที่สุดคือ 2-6 ปี แมวที่อ้วนจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ นอกจากนั้นยังพบว่าแมวที่กินอาหารที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม (Mg) ในปริมาณสูง และแมวที่กินน้ำน้อย จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้มากกว่า


อาการ
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่มีการอุดตัน และกลุ่มที่ไม่มีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ

1. กลุ่มที่ไม่มีการอุดตันของท่อปัสสาวะ
อาการ ของแมวจะเกิดจากการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ทำให้แมวแสดงอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่เป็นที่เป็นทาง รวมทั้งปัสสาวะมีเลือดปน เจ้าของแมวอาจจะสังเกตเห็นว่าแมวเบ่งถ่ายอุจจาระบ่อยมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งนั่งอยู่ในถาดทรายนานขึ้น แต่มีปัสสาวะออกมาน้อย ซึ่งลักษณะทั่วๆ ไป ภายนอกของแมวจะปกติทั้งการใช้ชีวิตและการกินอาหาร

2. กลุ่มที่มีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ
มัก จะเริ่มจากไม่มีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะก่อน แต่เจ้าของมักจะไม่ได้สังเกตอาการ หรือมองข้ามไป เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย แต่แมวเพศผู้มีขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อนำปัสสาวะน้อยกว่าในแมวเพศเมีย ทำให้การอุดตันของแมวเพศผู้มักจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แมวจะแสดงอาการเบ่งปัสสาวะบ่อยมากขึ้น แต่จะไม่มีปัสสาวะออกมา ส่งเสียงร้อง กระสับกระส่าย อาการจะรุนแรงระดับไหนขึ้นอยู่กับว่าการอุดตันเป็นมานานแค่ไหน ถ้าภายใน 6-24 ชั่วโมงหลังจากมีการอุดตัน แมวจะทำท่าเบ่งปัสสาวะบ่อยๆ ยืนนิ่งนานๆ ร้องเสียงดัง เลียอวัยวะเพศ กระวนกระวาย หรือลุกลี้ลุกลน ถ้ามีการอุดตันเลยไปถึง 36-48 ชั่วโมง แมวจะแสดงอาการของโรคไตวายที่เกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกทางปัสสาวะ แมวจะมีอาการซึม ไม่กินอาหาร อาเจียน ร่างกายขาดน้ำ อ่อนแรง อุณหภูมิต่ำ เกิดสภาวะเป็นกรดในกระแสเลือด หอบ หัวใจเต้นช้าลง และอาจเสียชีวิตภายใน 3-5 วัน ถ้าการอุดตันไม่ได้รับการรักษา


การวินิจฉัย
1. จากประวัติและอาการของสัตว์ป่วย
2. การตรวจร่างกาย แมวจะมีอาการเจ็บปวดเมื่อคลำกระเพาะปัสสาวะ กรณีที่ไม่มีการอุดตันอาจคลำพบผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัว ส่วนในรายที่มีการอุดันจะพบว่ากระเพาะปัสสาวะแข็งและขยายใหญ่กว่าปกติ 2-5 เท่า แมวบางตัวอาจเลียจนปลายอวัยวะเพศบวมอักเสบ
3. การถ่ายภาพทางรังสีวิทยา
4. การตรวจเลือด ในรายที่มีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะจะพบภาวะไตวายเกิดร่วมด้วย
5. การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูความเป็นกรด – ด่างของปัสสาวะ ผลึกนิ่ว และเชื้อแบคทีเรีย
6. การเพาะเชื้อจากปัสสาวะ ในรายที่สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย


การรักษา
1. กำจัดการอุดตันท่อทางเดินปัสสาวะ โดยการสวนและคาท่อสวนปัสสาวะไว้ในท่อทางเดินปัสสาวะ เพื่อช่วยระบายปัสสาวะ และป้องกันการอุดตันที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

2. การจัดการเรื่องอาหาร โดยในอาหารที่มีระดับของแมกนีเซียม น้อยกว่า 20 mEq/100 Kcal เพิ่มองค์ประกอบของเกลือในอาหาร กระตุ้นในแมวดื่มน้ำ ทำให้ปัสสาวะเจือจาง ทำให้ผลึกนิ่วละลายออกไปได้โดยง่าย และนอกจากนั้นในอาหารยังมีส่วนประกอบของสารที่ทำให้ปัสสาวะเป็นกรด เพื่อละลายผลึกนิ่ว ลดการตกตะกอนของนิ่วและลดการรวมตัวของเยื่อบุที่ลอกหลุดของกระเพาะปัสสาวะ เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง ที่จะทำให้เกิดปลั๊กอุดตันทางเดินปัสสาวะ อาหารสำเร็จรูปที่มีขายในท้องตลาดคือ Waltham Feline Urinary ชนิดเม็ดและกระป๋อง หรือ Hill’s prescription diet s/d กระป๋อง โดยให้กินติดต่อกันนาน 30 วันหลังจากการแก้ไขการอุดตัน เพื่อช่วยละลายผลึกที่ยังเหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะและท่อทางเดินปัสสาวะ หลังจากนั้นในกินอาหาร Waltham Feline Urinary หรือ หรือ Hill’s prescription diet c/d ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อคงสภาพความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมของปัสสาวะ และลดโอกาสเกิดโรคใหม่อีกครั้งหนึ่ง

3. ถ้ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ให้ทำการเพาะเชื้อและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม

4. รักษาภาวะไตวายที่เกิดจากการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ โดยการให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือใต้ผิวหนัง


การพยากรณ์โรค
การพยากรณ์โรคสำหรับ FLUTD อยู่ในขั้นพอใช้ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิดนั้นไม่สามารถหาได้อย่างแน่นอน รวมทั้งจากการศึกษายังพบว่า 70% ของแมวที่เกิดโรคนี้ จะมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีก

ที่มาของข้อมูล
โรงพยาบาลสัตว์สุวรรณชาด โดย สพ.ญ.มนัญญา ด่านพิทักษ์กุล

ความคิดเห็น